วันเสาร์

อ่านแล้วรวย:รวยความสำเร็จ success for rich


   ตัวของเรา ถูกทำให้เชื่อมานานมากแล้ว ใน “ความเชื่อผิดๆ” ที่ว่า... 
  ความสำเร็จเป็นเรื่องของคนบางคน 
  ทุกอย่างในโลกนี้มีจำกัด มีไม่พอสำหรับทุกคน 
  ความสำเร็จนั้น ได้มาด้วยความเหนื่อยยาก แสนสาหัส 
  ความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่นพวกความรู้ และเครื่องมือต่างๆ 
  เราไม่ดีพอ เราไม่เก่งพอ 
  ฯลฯ 

เราจึงต้องทำให้ตัวเราเอง มี “ความเชื่อที่ถูกต้อง” เสียใหม่ ว่า... 
  ทุกคนเกิดมาเพื่อสำเร็จ 


  ทุกอย่างในโลกนี้ ในจักรวาลนี้ มีเพียงพอสำหรับทุกคน 
  ความสำเร็จของทุกคน มีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ไม่ต้องไปหาที่ไหน มันไม่ใช่เรื่องของการไขว่คว้าหามา แต่มันเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์สิ่งที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น 
  ความสุข ความสำเร็จ และหรือ การบรรลุความเป็นเลิศในตัวเองของเรานั้น เราไม่จำต้องไปดิ้นรนหาเครื่องมือ หรือปัจจัยภายนอกใดๆ ทั้งสิ้น มันอยู่ในตัวของเราแล้ว เราไม่ได้ขาดเครื่องมือใดๆ เลย 
  ทุกคนมีพลังงานเหลือเฟือ มีศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัด จักรวาล หรือธรรมชาติ สร้างคนทุกคนให้มีพลังงานมากเกินพอ ที่จะสามารถมี ทำ เป็น อะไรก็ได้ อย่างไร้ขีดจำกัด 
  ฯลฯ 

           มนุษย์นั้น มีแรงขับเคลื่อนชีวิตด้วย 2 สิ่งนี้เท่านั้น คือ ไม่ด้วย “ความรัก” ก็ด้วย “ความกลัว” พวกเราทั้งหลาย ต้องช่วยให้ลูกหลานของเรา ขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังงานแห่ง “ความรัก” มิใช่ด้วยพลังงานแห่ง“ความกลัว” (ผมใคร่ขอให้ท่านเข้าไปอ่านข้อเขียนของผมเรื่อง “จงมีชีวิตด้วยความรักเถิด อย่ามีชีวิตด้วยความกลัวเลย” ในเว็บไซต์ของผมประกอบ จะเป็นการดีที่สุด ผมมั่นใจว่าท่านจะมีความเข้าใจในประเด็นนี้ละเอียดชัดเจนขึ้น) 

          อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งผมถือว่าสำคัญมากๆ ก็คือ เราต้องทำให้ตัวเราเอง และลูกหลานของเรา มีความเชื่อให้ครบถ้วน ทั้ง 3 สิ่ง ซึ่งก็คือ :- 

          สิ่งที่เรา “รู้แล้ว” (Knowledge)
          สิ่งที่เรา “ยังไม่รู้” (Unknown)
          สิ่งที่เรา “ไม่อาจรู้ได้” (Unknowable)
 



           คนส่วนมากในโลกนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าถึงกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ถูกสอนมาให้เชื่อ 
เฉพาะ “สิ่งที่รู้แล้ว” เท่านั้น เราจึงตกเป็นเหยื่อของค่านิยม ความเชื่อ ของสังคม และของผู้อื่น เราไม่สามารถจะมีความสุข หรือมีความเชื่อมั่น ใน “สิ่งที่เรายังไม่รู้” ได้สักที เราไม่กล้าคิด เราไม่กล้าพูด เราไม่กล้าทำ ในสิ่งที่ยังไม่เคยมีการบันทึกไว้ว่าได้มีคนเคยทำเช่นนั้นมาแล้ว เราไม่กล้าริเริ่มและสร้างสรรค์ เราไม่กล้าแตกต่าง เราไม่กล้า เป็นตัวของตัวเอง เรากลัวการเปลี่ยนแปลง เรากลัวความไม่มั่นคงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น เราก็ได้แต่เดินๆ ตามที่คนอื่นเขาได้เดินๆ กันมาก่อนแล้วเท่านั้นเอง การเรียนจนจบปริญญาตรี โท เอกนั้น ก็คือการเรียนในสิ่งที่ “รู้แล้ว” กันทั้งสิ้น การทำวิทยานิพนธ์ หรือดุษฎีนิพนธ์นั้น ก็คือแค่การมา “รับรองสำเนาถูกต้อง” เท่านั้นเอง ไปดูเอาเองเถิด วิทยานิพนธ์ และดุษฎีนิพนธ์ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำๆ กันมานั้น ล้วนอยู่บนหิ้ง บนชั้นหนังสือในห้องสมุดเท่านั้น! ซึ่งไม่มีใครสนใจที่จะไปหยิบมันมาอ่านเลย คนที่จะอ่านมันนั้น ก็คือคนอีกคนหนึ่งที่กำลังจะทำการวิจัยเรื่องนั้นซ้ำอีกรอบหนึ่งเท่านั้น! 

         ตัวของเราเอง และลูกหลานของเรา ต้องกล้าหาญที่จะมีความสุข ด้วยการมีความเชื่อใน “สิ่งที่ยังไม่รู้” ให้จงได้ เราต้องสามารถสนุกสนานตื่นเต้นกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่เราไม่อาจคาดการณ์ไว้ได้ล่วงหน้า เราต้องนิยมยินดีกับประสบการณ์สดใหม่ที่เกิดขึ้นทุกอย่าง โดยไม่ต้องเกิดความกลัว ความกังวลใดๆ หน้าที่ของเรา คือ ใช้ปฏิภาณไหวพริบ จัดการกับทุกสถานการณ์ด้วยความร่าเริงลิงโลด ด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคน ก็ล้วนมีทักษะในเรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว แต่ด้วยความเชื่อที่วิปลาส จึงทำให้เราสูญเสียคุณสมบัติข้อนี้ไป เราเคยชินแต่กับการใช้ “ความรู้ ความคิด ในหัวสมอง” เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เรามีประสบการณ์ และหรือที่เราเคยรับรู้มาแล้วเท่านั้น คนส่วนใหญ่ในโลกนี้จึงยึดมั่นถือมั่นอย่างฝังหัว ว่าจะต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้เสียก่อนเท่านั้น จึงจะเชื่อ จึงจะมีความสุขได้ OSHO มหาคุรุด้านจิตวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิต คือการเคลื่อนที่ไป ‘ขณะต่อขณะ’ ไม่ต้องไปกังวลว่า ต่อไปจะเป็นเช่นไร” 
          และโศกนาฏกรรมร้ายแรงที่สุด ก็คือ มนุษย์พยายามจะรู้ให้ได้ แม้ในสิ่งที่ “ไม่อาจจะรู้ได้” (Unknowable) คนจำนวนมากจึงดิ้นรนขวนขวาย วุ่นวายอยู่กับเรื่องทรงเจ้าเข้าผี การสะกดจิตเพื่อระลึกชาติ การสแกนกรรม การเอ๊กซ์เรย์กรรม ฯลฯ เรียกว่าถ้าไม่สามารถรู้ว่าชาติก่อนเป็นอย่างไร ชาติหน้าเป็นอย่างไร อดีตเป็นอย่าง ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ฯลฯ แล้ว เป็นอันว่าจะไม่สามารถมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินชีวิตไปได้เอาเลยทีเดียว คนส่วนใหญ่ในโลกนี้จึงต้องตกเป็นเหยื่อของพวกหมอดูกำมะลอ หลงติดอยู่กับเทพไท้เทวา จมปลักอยู่กับเทวดาต๊ะติ๊งโหน่ง เที่ยวตระเวนกระเสือกกระสนร่ำเรียนวิชาสารพัด เพื่อจะทำนายอนาคต เพื่อจะระลึกอดีตให้จงได้ ผมเคยไปได้ยินจากที่ไหนสักแห่งหนึ่งว่า มีคนคนหนึ่งเขาไปได้วิชาสะกดจิตระลึกชาติมา แล้วก็ได้ทำการระลึกชาติจนสามารถเห็นภาพเคลื่อนไหวของชีวิตเขาในชาติก่อนได้สำเร็จ เขาระลึกได้ถึงขนาดรู้ว่า คนที่เป็นแม่ของเขาในชาตินี้นั้น เคยเป็นลูกของเขามาในชาติก่อน ผมรับรู้เรื่องนี้ด้วยความขบขัน อยากจะถามคนผู้นั้นไปเหมือนกัน (แต่ไม่กล้า กลัวเขาจะชกหน้าเอา) ว่า เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว มันก่อให้เกิดสติพุทธิปัญญาอะไรกับชีวิตเขาได้บ้างเล่า แล้วเขาจะทำอะไรต่อไปกับการระลึกชาติเช่นนั้นได้ แม่ของเขาในชาตินี้ควรต้องก้มลงกราบเท้าเขาในชาตินี้ไหม เพื่อแสดงความเคารพพ่อของเธอในชาติก่อน แล้วทั้งคู่แม่ลูกในชาตินี้ ควรทำข้อตกลงอะไรกันก่อนไหม ว่าชาติหน้าใครจะเป็นอะไรกันต่อไปอีก จะได้ยุติธรรม! 

         ที่ผมกล่าวมานั้นไม่ได้แปลว่าผมไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะเน้นก็คือ เราอย่าไปเสียเวลาเที่ยวได้ไปรู้มันเสียหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่ง “สิ่งที่ไม่อาจจะรู้ได้” เราก็ยังสู้อุตส่าห์จะไปสาระแน แส่หาเรื่อง เพื่อจะรู้มันให้ได้ และร้อยละร้อย ก็จะไม่ได้รู้อะไรจริงหรอก เพราะเมื่อมันเป็น “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้” เราก็ย่อมไม่สามารถรู้ได้

          “สิ่งที่เราไม่อาจจะรู้ได้” นี้ เราสามารถ “รู้สึก” ได้ครับ เราสามารถสัมผัสได้ ด้วย “การหยั่งรู้ลึกๆ ภายใน” ที่เราต้องทำก็คือ เพียง มีความเชื่อมั่นไว้วางใจ ต่อ “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้” นี้ ไว้ก็พอ ไม่จำต้องไปเที่ยวได้หาหลักฐาน เห็นภาพ ได้กลิ่น ได้ยินเสียงอะไรทั้งนั้นหรอก “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้” นี้ มันเป็นเรื่องที่มาบอกกันไม่ได้ สอนกันไม่ได้ ตัวของตัวเองแต่ละคน ต้อง “หยั่งรู้” ด้วยตนเองเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในเรื่องเกี่ยวกับ “พระเจ้า” นั้น ใครหน้าไหนจะสามารถอธิบายได้ว่าพระเจ้าหน้าตาเป็นอย่างไร ใครหน้าไหนจะสามารถถอดกายย้ายวิญญาณไปเฝ้าพระเจ้าได้แล้วกลับมาเล่าให้ผู้คนฟัง ที่จะทำได้ก็คือ แต่ละคนต่างต้องไปมีประสบการณ์เฉพาะตัวกับการได้ “พบพระเจ้า” เท่านั้น 

           อาจสรุปในประเด็นนี้ได้อย่างสั้นๆ ว่า จงให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจใน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” (หรือ
“พระเจ้า” หรือ “ตัวตนสูงสุดในจักรวาล” หรือ “พลังงานไร้รูป” ฯลฯ หรือชื่ออื่นใดก็ได้ ตามแต่จะสะดวกใจที่ใครจะเรียก) โดยไม่จำต้องไปทำอะไรเพื่อการนี้ทั้งนั้น ไม่จำต้องไปเสียเวลาทั้งชีวิตเพื่อจะพิสูจน์อะไรทั้งสิ้น เราก็แค่เชื่อเท่านั้นก็พอ (ใช้แค่สมองซีกขวาเป็นสำคัญ มิใช่สมองซีกซ้าย ที่มักต้องการรู้ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างเสียก่อน จึงจะสามารถเชื่ออะไรสักอย่างหนึ่งได้) 

         ประเด็นสำคัญสุดท้าย ก็คือ การทำให้เกิด “ความเชื่อที่ถูกต้อง” ทั้งหลายทั้งปวง ตามที่ได้กล่าวมานี้ทั้งหมดนั้น อาจไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก แต่ที่ยากเย็นเข็ญใจอย่างเหลือเกิน ก็คือ “การรักษาความเชื่อ” นั้นไว้อย่างหนักแน่น มั่นคง ไม่คลอนแคลน ทำอย่างไรให้ทั้งตัวเราเอง และลูกหลานของเรา จึงจะสามารถปลูกฝังความเชื่อนี้ให้มันแผ่ซ่านเข้าไปในทุกอณูของเลือดเนื้อ ในทุกลมหายใจ ให้มันเข้าไปฝังอยู่ในกระดูก ในไขกระดูก ได้เลยยิ่งดี! 
          หลายคนอาจเปลี่ยนความเชื่อของตนเองได้เป็นผลสำเร็จ แต่กลับไม่สามารถรักษาความเชื่อนั้นไว้ได้ตลอดไป เพราะในชีวิตประจำวันของเรานั้น เราต้องเผชิญกับผู้คน และสภาวะแวดล้อมมากมาย ที่คอยสั่นคลอนความเชื่อใหม่ของเราอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความหนักแน่น อดทน ตอกย้ำด้วยการ “คิด พูด ทำ” อย่างที่เชื่อ อย่างสม่ำเสมอ อาจจะวูบวาบอ่อนไหวไปบ้าง ก็ต้องสามารถเยียวยาตัวเอง ฟื้นฟูตัวเองให้รวดเร็ว เพื่อให้กลับมาตั้งมั่นอยู่กับความเชื่อที่ถูกต้องได้อีกครั้ง 

          ในที่นี้ ผมใคร่เสนอ “หลักการ 3 ข้อ เพื่อการรักษาความเชื่อที่ถูกต้องไว้” ดังนี้ :- 

           (1) รักษา “ทิศทาง” (Direction)ไว้ อย่ากังวลกับ “เป้าหมาย” (Destination) 
           (2) จง “ตอบสนอง” (Respond) แต่อย่า “ตอบโต้” (React) 
           (3) เชื่อ “ความรู้สึกในหัวใจ” มากกว่า “ความคิดในหัวสมอง” 
           เมื่อเรามีเจตนารมณ์ หรือความปรารถนา อยากมี อยากทำ อยากเป็น อะไร อย่ามัวไปกังวลว่า 
เมื่อไหร่จึงจะได้ เมื่อไหร่จึงจะถึง อย่าลังเล อย่าเคลือบแคลงสงสัย ให้แน่ใจก็พอว่าเราอยู่บนหนทางที่ถูกต้อง ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ขอให้แน่ใจก็พอ ว่าทุกสิ่งที่เรามี ทุกสิ่งที่เราทำ ทุกสิ่งที่เราเป็น ตลอดเส้นทางแห่งการเคลื่อนที่ไปของเรานั้น ไม่ว่ามันจะคืออะไร ไม่ว่ามันจะยังห่างจากที่หมาย หรือเป้าหมายไปอย่างไรก็ตาม แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์กับการ “เจริญเติบโต” (Growing up) ของเรา หากเราสามารถหยั่งรู้ได้ว่ามันกำลังทำให้เรา “เป็น” ในสิ่งที่เราเป็น ก็ไม่ต้องไปสนใจกับเป้าหมายใดๆ อย่าไปติด “กับดัก” กับเป้าหมายมากเสียจนมิได้เรียนรู้อะไรกับทุกประสบการณ์ที่ทำให้เราเจริญเติบโต 

          อย่าไปคับข้องใจกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่เป็นไปอย่างที่ใจเราอยากให้เป็น อย่าไปกังวลกับทุกสิ่งทุกอย่างที่จะมาทำลายความเชื่อใหม่ที่ถูกต้องของเรา อย่าพยายามที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไร อย่าต่อต้าน อย่าตอบโต้ ที่เราจะสามารถทำได้ คือ “ยอมรับ” และหรือ “ยอมจำนน” (Surrender) นี่ไม่ใช่เรื่อง “ยอมแพ้” แต่เราแค่ “ยอมรับ” และ “ตอบสนอง” มัน ตามความเหมาะสม อย่ามัวไปสาปแช่ง ก่นด่าในสิ่งที่เราเห็นว่ามันไม่ถูกที่ไม่ถูกทาง มันไม่สำคัญว่าโลกนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น แต่มันสำคัญว่าเราจะมองมันด้วยมุมมองอะไร ตัวอย่างของการไม่ตอบโต้ แต่ตอบสนอง ก็เช่น เราอาจไม่พอใจกับระบบการศึกษาในปัจจุบัน เราอาจขยะแขยงที่จะส่งบุตรหลานของเรา ไปเข้าเรียนในระบบที่เราคิดว่ามันน้ำเน่าเสียเหลือเกินแล้ว แต่ก็อย่าไปประชดประชัน อย่าไปประท้วงด้วยการปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ควรทำคือ ก็ไหลลื่น กลมกลืนไปกับมัน อย่างมีสติรู้ตัว เขาเปิดให้สอบแข่งขัน ก็ไปสอบกับเขาตามปกติ ถ้าสอบได้ก็เข้าไปเรียน หากสอบไม่ได้ก็ไปหาที่อื่นเรียน ไม่ต้องไปมีอารมณ์เอาเป็นเอาตายอะไรกับการนี้ สรุปก็คือ ดำเนินชีวิตให้กลมกลืนไปกับชาวโลกทั่วไป อย่างมีสติรู้ตัว อย่างมีทิศทางที่ถูกต้อง ทำสิ่งที่ต้องทำไปทีละวัน แม่ชีเทเรซ่า เคยพูดเอาไว้ว่า “จงลุกขึ้นมาจุดเทียน อย่ามัวแต่สาปแช่งความมืด!” 
           และสุดท้าย จงเชื่อ “ความรู้สึกในหัวใจ” มากกว่า “ความคิดในหัวสมอง” หากพูดในภาษาของวิทยาศาสตร์ ก็อาจพูดใหม่ได้ว่า “จงเชื่อสมองซีกขวา มากกว่าสมองซีกซ้าย” ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ จงฟังความรู้สึกในหัวใจให้มากเข้าไว้ ถ้ารู้สึกดี ก็ทำมันไปเลย ความคิดในหัวสมองนั้น มันคอยแต่จะเชื่อมั่นไว้วางใจใน “สิ่งที่รู้แล้ว” เท่านั้น มันไม่มีวันเชื่อมั่นไว้วางใจใน “สิ่งที่ยังไม่รู้” และที่สำคัญที่สุด มันไม่สนใจใน “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้” ใดๆ เลย มันจะเชื่อก็แต่เฉพาะอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้ มีหลักฐานอ้างอิง จับต้องได้ เป็นรูปธรรม ทดลองให้เห็นได้ อธิบายได้ เท่านั้น นี่จึงทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่บนโลกนี้ แข็งตัว กระด้าง ไม่ยืดหยุ่น ไร้ความสดใหม่ ไร้ชีวิตชีวา ปราศจากความตื่นเต้นเร้าใจ ตายซาก เหี่ยวเฉา เต็มไปด้วยความกลัว หวาดระแวง พะวงสงสัย ไม่สามารถเชื่อมั่นไว้วางใจกับอะไร และหรือกับใครได้เลย 











            ผมต้องขอภัย ที่ไม่อาจพูดถึงอีกนัยหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่อง “กระบวนการสร้าง” (Creation Process) ซึ่งที่ตั้งใจไว้ ก็คือจะพูดเรื่อง “กฎแห่งการดึงดูด” (Law of Attraction) เป็นสำคัญ นั่นเอง เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจต้องใช้เวลามากในการพูด และต้องใช้หลายหน้ากระดาษในการเขียน แม้แต่ในห้องสัมมนา ในงาน “เกิดมาเพื่อสำเร็จ” ที่ผ่านมานั้น ผมก็ยังไม่สามารถอธิบายรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มากนัก ได้แต่แค่แตะๆ อย่างฉาบฉวย อย่างกว้างๆ ได้เท่านั้นเอง แต่ผมก็เชื่อว่าทุกๆ ท่านน่าจะสามารถไปหาหนังสือดีๆ ที่พูดเรื่องนี้ไว้ เพื่ออ่านเองก็จะเข้าใจได้ง่ายๆ ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะหนังสือที่คุณหนึ่ง (ดร.วรัญญา สะอาดเอี่ยม ริเท็นนิส) เป็นผู้แปลไว้ คือ “ศาสตร์แห่งความมั่งคั่งร่ำรวย” และที่คุณนันท์ วิทยดำรง ได้แปลไว้คือ “เจ็ดกฎด้านจิตวิญญาณ เพื่อความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม” รวมทั้งหนังสือยอดฮิตที่ทุกท่านคุ้นๆ อยู่แล้ว อย่าง “The Secret” ของรอนดา เบิร์น นั่นด้วย ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้ทุกท่านได้เข้าใจว่ากฎนี้มันคืออะไร หลายท่านได้อ่านหนังสือดังกล่าวทั้งหมดไปแล้วด้วยซ้ำ 

           ถ้าทั้งหลาย ทั้งปวง ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังไม่อาจทำให้ท่านกระจ่างแจ้งในใจได้ ผมก็ใคร่ขอสรุปเป็นประการสุดท้ายนี้ว่า ท่านจะทำอย่างไรก็ได้ ขอเพียงให้รักษาความเชื่อที่ว่า เราทุกคน ลูกหลานทุกคนของเรานั้น ล้วน “เกิดมาเพื่อสำเร็จ” เท่านั้น มิได้เกิดมาเพื่อจะล้มเหลว ตราบใดที่เรายังเชื่อเช่นนี้ ตราบใดที่ลูกหลานของเรายังเชื่อเช่นนี้ และสามารถเชื่อได้ตลอดไป ตราบนั้น มันก็จะสามารถเป็นจริง ได้ในทุกสิ่งทุกอย่าง! โปรดจำไว้เป็นประการสุดท้ายว่า... 





“คนประสบความสำเร็จนั้น เชื่อก่อน แล้วจึงเห็น
ส่วนคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ มักพูดว่าขอเห็นก่อนแล้วจึงจะเชื่อ!”
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น